สารจากคณบดี

 

 

ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน หรือที่เรียกว่า

“เทคโนโลยี ดีสรัปชั่น (Technology disruption)” ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19)

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการอยู่รอด คือการปรับตัว   คำนี้เป็นคำสำคัญ เป็น keyword ที่มีนัยสำคัญมาตั้งแต่อดีตกาล

ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์ ผ่านช่วงเวลาต่างๆ จนถึงทุกวันนี้   สิ่งมีชีวิตใดที่รู้จักการปรับตัว ก็จะสามารถอยู่รอด ผ่านห้วงวิกฤตมาได้

สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้คำนึงถึงสถานการณ์เช่นนี้อย่างรอบรู้

และเห็นว่าการปรับตัวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเราในฐานะองค์กรแห่งการเรียนรู้จะต้องสามารถปฏิบัติตน

ให้เป็นผู้นำของการปรับตัวครั้งนี้ และนำพาผู้คนในสังคมให้รอดพ้นจากวิกฤตได้อย่างปลอดภัย   คณาจารย์ในหลักสูตรต่างๆ ของเรา

ทั้งสาขาสถาปัตยกรรม สาขาการออกแบบภายใน และสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้ปรับกลยุทธ์การเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีออนไลน์

ในช่วงที่สังคมต้องการระยะห่าง โดยผ่านโปรแกรมต่างๆ ได้แก่ Zoom, Webex, Microsoft Meeting และ Google Classroom

เราได้ใช้บทเรียนต่างๆ จากสื่อโซเชียลมีเดียอันเป็นความรู้กว้างไกลโดยผนวกเข้ามาสู่ชั้นเรียน  รวมถึงการสัมมนาสำนักวิชาฯ

ได้ถกกันถึงประเด็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ A.I. (Artificial Intelligent) ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้

ทางสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจข้อมูลทางดิจิทัล (digital literacy),

วัสดุสมาร์ท (smart materials), เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D printing), อุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูล

ถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต (Internet of Thing – IoT) ตลอดจนระบบการสร้างแบบจำลองทางดิจิทัลเสมือนของอาคารที่แม่นยำ

(Building Information Modeling – BIM)  นอกจากนี้ยังรวมถึงความรอบรู้เรื่องความยั่งยืนทางสภาพแวดล้อม (environmental sustainability)

และเมืองอัจฉริยะ (smart cities)

ดังนั้น ในปีการศึกษา 2563 – 2564 นี้ สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบจึงจะได้เปิดยุคสมัยใหม่แห่งการเรียนรู้

ทางด้านงานสร้างสรรค์ของการออกแบบที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีข้อมูลทางดิจิทัล ที่พร้อมจะก้าวเดินไปกับสังคมปกติใหม่ (New Normal)

สู่อนาคต ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.กิจชัย จิตขจรวานิช

คณบดีสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Share this:

Like this:

Like Loading...